ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ด้วยพลังแห่ง ‘Pink Economy’

การจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month ทั่วประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของประเทศไทยอีกด้วย

ประกอบกับความนิยมอย่างล้นหลามที่มีต่ออุตสาหกรรมซีรีย์วายของไทย ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นถึง 146.44% และมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี

เรื่องราวเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดขายใหม่ที่สำคัญของประเทศในการดึงดูดการลงทุนและท่องเที่ยวได้ นั่นคือ ‘Pink Economy’ หรือเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนไปยังกลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA2S+

โชคดีที่ล่าสุด Canvas Ventures International บริษัทร่วมลงทุนรุ่นใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสตาร์ทอัพของไทยสู่ระดับโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของ Pink Economy และประกาศจัดงาน ‘Pink Power Up Business Forum’ ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญแรกในไทยที่มุ่งเจาะลึกประเด็นนี้โดยเฉพาะ

ประเด็นสำคัญของ Pink Economy

ธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Canvas Ventures International ได้ให้ความหมายของ Pink Economy ว่ามาจากคำว่า ‘Pink’ ที่ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามนาซีเยอรมนี โดยนาซีติด ‘Pink Triangle’ หรือสามเหลี่ยมสีชมพูลงบนเสื้อของทหารเกย์ เพื่อกลั่นแกล้งและดูหมิ่น แต่ต่อมาสัญลักษณ์นี้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

จากนั้นในช่วงปี 1970-1980 นักธุรกิจเริ่มให้ความสนใจในการเจาะตลาดและลงทุนกับผู้บริโภค LGBTQIA2S+ มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามี ‘กำลังซื้อสูง’ การลงทุนลักษณะนี้จึงถูกเรียกว่า Pink Economy ซึ่งมีที่มาจากการที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมักไม่มีภาระครอบครัว ไม่มีลูก จึงมีรายได้เหลือใช้จ่ายในชีวิตสนุกสนานมากกว่า

แนวโน้ม Pink Economy ในประเทศไทย

ธนะชัย ระบุว่า Pink Economy ในไทยไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่อุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม เนื่องจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ 

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เพราะคู่รักหรือครอบครัวในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมักจะลงทุนกับสัตว์เลี้ยง และล่าสุดยังเกิดโอกาสในธุรกิจจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA2S+ หลังจากที่ประเทศไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อไม่นานมานี้

ความท้าทายในการผลักดัน Pink Economy ของไทย

ธนะชัยระบุว่า แรงผลักดันสำคัญที่อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของ Pink Money มาจากเป้าหมายที่ต้องการดึง World Pride ให้มาจัดที่กรุงเทพฯ ซึ่งผู้เคยจัดงานนี้บอกว่า ปัจจัยสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศนั้นๆ

ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะมีสมรสเท่าเทียมและไพร์ดพาเหรด แต่อาจยังไม่เพียงพอสำหรับการดึง World Pride มาได้ การพัฒนา Pink Economy จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศ