ประเด็นร้อนถกกันหนัก เรื่องไฟไหม้ฟิล์มกระจกรถจากแสงแดด เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?

**ประเด็นร้อนถกกันหนัก เรื่องไฟไหม้ฟิล์มกระจกรถจากแสงแดด เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?**

เมื่อเร็วๆ นี้ มีคลิปวีดีโอเหตุการณ์ไฟไหม้รถยนต์แพร่กระจายในโลกออนไลน์ โดยเป็นเหตุการณ์ที่รถยนต์จอดตากแดดบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถนนเลียบชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี มีควันไฟลุกออกมาจากกระจกหน้ารถยนต์ และเพลิงกำลังไหม้ภายในคอนโซลหน้ารถอย่างรุนแรง จนมีเสียงประกอบในคลิปว่า “ไฟไหม้ฟิล์มรถ รีบเข้าไปดับไฟเร็ว”

แนวโน้มที่อาจเป็นสาเหตุจริง

หลังจากคลิปดังกล่าวแพร่สะพัดในโลกโซเชียล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ว่า สถานการณ์ “ตากแดดร้อนจนไฟไหม้ฟิล์มรถ” นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย

เนื่องจากองค์ประกอบหลักของฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ มักเป็นพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์ (polyester) ซึ่งจะต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 450 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว จึงจะสามารถทำให้วัสดุดังกล่าวติดไฟลุกเป็นไฟได้ 

สิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุแท้จริง

ดร.เจษฎาจึงวิเคราะห์ว่า สิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้รุนแรงครั้งนี้มากกว่า คือ อาจมีวัสดุบางอย่างวางตรงคอนโซลหน้ารถ แล้วเกิดลุกเป็นไฟขึ้น ก่อให้เกิดการลามไฟและทำให้กระจกหน้าแตกร้าวออกด้วยความร้อนสูง เกิดเป็นภาพควันลอยขึ้นจากด้านหน้ารถ จนดูคล้ายกับฟิล์มกระจกเป็นจุดเริ่มต้นของไฟลุกไหม้นั่นเอง

“จากภาพประกอบในคลิป เราก็เห็นได้ว่า ด้านในรถเกิดการเผาไหม้รุนแรงมาก จนคอนโซลหน้ารถถูกเผาผลาญเป็นหลุมโหว่เลย ซึ่งผมก็ยังไม่ทราบว่าภายในนั้นมีวัสดุหรือสิ่งของชนิดใดบ้าง” ดร.เจษฎากล่าว

ข้อควรระวังกับวัสดุในรถที่อาจเป็นเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว ดร.เจษฎาก็ได้เตือนถึงสิ่งของบางอย่างที่จากรายงานข้อมูลในอดีตว่า อาจเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายภายในรถที่จอดตากแดดร้อนๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟแช็ก เครื่องสตาร์ทรถ เพาเวอร์แบงค์ สเปรย์กระป๋อง ลูกโป่งอัดก๊าซ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและไม่ปล่อยปละวางสิ่งของเหล่านี้ไว้ในรถในช่วงที่อากาศร้อนจัด

“แม้สาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้อาจมีรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดเผยก็ตาม แต่ก็สมควรที่เราจะได้ใช้โอกาสนี้ย้ำเตือนกันอีกครั้ง เรื่องความระมัดระวังต่อวัสดุสิ่งของบางประเภทภายในรถ ซึ่งแม้แต่แสงแดดร้อนๆ ก็อาจนำไปสู่การติดไฟได้” ดร.เจษฎากล่าวปิดท้าย